วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทความที่ 3 การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม กับความคาดหวังของสังคมไทย

จากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผลักดันให้สังคมไทยมุ่งความสำเร็จทางวัตถุ  คนในสังคมแสวงหาความสำเร็จในชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ  บ้างก็แสวงหาอำนาจ  บ้างก็แสวงหาผลประโยชน์  จนหลายคนมองเห็นตรงกันว่าปัจจุบันสังคมไทยเริ่มอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติหลายด้าน  ทั้งด้านการเมือง การศึกษา ศาสนา  เศรษฐกิจ  สังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่พึงวิตกกังวลยิ่งนั่นคือ  คุณธรรม จริยธรรมของคนไทยเริ่มถดถอยอันเป็นต้นเหตุที่จะนำไปสู่วิกฤติให้แก่สังคมไทย ในอนาคต
ถ้าพิจารณาพื้นฐานปัญหาคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชนไทย  ส่วนหนึ่งและอาจจะเป็นส่วนใหญ่ปัญหานั้นเริ่มจาก “ปัญหาด้านครอบครัว”  ซึ่งเกิดจากการที่ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน พ่อแม่ไม่มีเวลาให้บุตรหลาน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และอื่น ๆ อีกมากมาย  ซึ่งประเด็นปัญหาของสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยลำดับต้น ๆ  เช่น  ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว  ซึ่งจะนำไปสู่การมีความรัก  การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  รวมถึงภัยจากสื่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต  และการเข้าถึงอบายมุขทั้งเหล้า บุหรี่ ยาเสพติดได้ง่ายดาย  และที่สำคัญคือ “การขาดแบบอย่างที่ดี” นั่นเอง



ทุกครั้งที่กล่าวถึงปัญหาคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทย  หลายคนมักจะมองไปที่กระบวนการจัดการศึกษา  และตอกย้ำเสมอว่าเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษา  แต่อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจยอมรับว่าปัญหาเรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้นเป็นปัญหา ใหญ่ระดับชาติ  ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องเริ่มต้นจากครอบครัว  สถานศึกษา  และที่สำคัญที่สุดคือผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก และเยาวชน  เนื่องจากการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้ประสบผลสำเร็จสูงสุดนั้นต้องปฏิบัติ ตนให้เป็นแบบอย่าง  สังคมอยากเห็นภาพเด็กและเยาวชนเป็นเช่นไร ทุกคนในสังคมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูผู้สอน  ผู้บริหาร นักการเมือง ผู้นำสังคม ผู้นำประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี  เพราะการเป็นแบบอย่างที่ดีนั้นถือเป็นวิธีการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ดี ที่สุด
จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และด้วยสถาบันครอบครัวที่อ่อนแอลง  สังคมไทยจึงคาดหวังและมอบภาระอันหนักอึ้งนี้ให้กับโรงเรียนหรือสถาบันการ ศึกษาที่จะช่วยกันขัดเกลาปลูกฝังและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ดังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
แม้กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรมมาโดยตลอด บ้างก็มุ่งเน้น “คุณ ธรรมนำความรู้”  บ้างก็มุ่งเน้น “ความรู้คู่คุณธรรม” สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำคัญในเบื้อง ต้น คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์  ซื่อสัตย์สุจริต  มีวินัย  ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง  มุ่งมั่นในการทำงาน  รักความเป็นไทย  และมีจิตสาธารณะ
“ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมสำหรับคนไทย” ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดของนักการศึกษาไทย  ศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน  เป็นทฤษฎีที่น่าสนใจมีจุดเด่น คือ ลักษณะพื้นฐานและองค์ประกอบทางจิตใจซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่พึงปรารถนา เพื่อส่งเสริมให้บุคคลเป็นคนดีและคนเก่ง โดยแบ่งต้นไม้จริยธรรม ออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ดอกและผลไม้บนต้น  แสดงถึงพฤติกรรมการทำดีละเว้นชั่ว และพฤติกรรมการทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อส่วนรวม ซึ่งเป็นพฤติกรรมของพลเมืองดี พฤติกรรมที่เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาประเทศ
ส่วนที่สอง ได้แก่ ส่วนลำต้นของต้นไม้ แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่างขยันขันแข็ง ซึ่งประกอบด้วยจิตลักษณะ 5 ด้าน คือ เหตุผลเชิงจริยธรรม  มุ่งอนาคตและการควบคุมตนเอง ความเชื่ออำนาจในตน  แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ทัศนคติ คุณธรรม และค่านิยม
ส่วนที่สาม ได้แก่  รากของต้นไม้  แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่างขยันขันแข็ง ซึ่งประกอบด้วยจิตลักษณะ 3 ด้าน คือ สติปัญญา ประสบการณ์ทางสังคม  และสุขภาพจิต
สำหรับแนวทางในการปลูกฝังเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์นั้น ครูผู้สอนทุกคนต้องร่วมกันวางแผนและสอดแทรกไว้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างให้เกิดได้อย่างยั่งยืนโดยผ่านกระบวนการ ปฏิบัติงานทั้งงานส่วนบุคคล  และจากการร่วมกันทำงาน เป็นทีม
สุดท้ายขอฝากคุณครูทุกท่านพึงตระหนักไว้เสมอว่าท่านเป็นบุคคลที่สำคัญ ยิ่ง นอกจากท่านมีหน้าที่ในการสอนหนังสือแล้ว  ยังต้องคำนึงถึงภาระหน้าที่ที่สังคมคาดหวัง อีกอย่าง นั่นก็คือ การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่เหมาะสมให้กับผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย  เพื่อร่วมกันสรรค์สร้างผู้เรียนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติให้เป็นคนที่มี ความรู้คู่คุณธรรมนำชีวิตไปสู่ความสุขและจะนำสันติสุขมาสู่สังคมไทยต่อไป.

ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น